iPad Pro
หน้าจอ mini-LED, OLED และ LED ต่างกันยังไง?
หลังจากที่ Apple เปิดตัว iPad Pro รุ่นใหม่ที่มาพร้อมกับหน้าจอที่ใช้เทคโนโลยี mini-LED ในรุ่น 12.9 นิ้ว หลายๆคนที่อาจจะสงสัยว่าเจ้า mini-LED มันคืออะไร? แล้วมันแตกต่างกับหน้าจอชนิดอื่นๆที่ใช้อยู่ในตลาดยังไง
By
หลังจากที่ Apple เปิดตัว iPad Pro รุ่นใหม่ที่มาพร้อมกับหน้าจอที่ใช้เทคโนโลยี mini-LED ในรุ่น 12.9 นิ้ว หลายๆคนที่อาจจะสงสัยว่าเจ้า mini-LED มันคืออะไร? แล้วมันแตกต่างกับหน้าจอชนิดอื่นๆที่ใช้อยู่ในตลาดยังไง
ในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ mini-LED ที่ Apple นำมาใช้กับ iPad Pro ขนาด 12.9 นิ้ว รุ่นใหม่กัน
ทำความรู้จักกับหน้าจอแบบ LCD กันก่อน
หลักการทำงานของจอประเภท LCD นั้นอธิบายง่ายๆก็คือโครงสร้างภายในของมันจะประกอบไปด้วยเลเยอร์ต่างๆ โดยมีเลเยอร์ที่สำคัญอย่าง Liquid Crystal ที่สามารถปรับโครงสร้างโมเลกุลของมันจากการจ่ายประจุไฟฟ้าเข้าไปเพื่อเปลี่ยนทิศทางของแสงก่อนที่มันจะเดินทางไปยังพิกเซลสีแดง สีเขียวและสีน้ำเงินเพื่อกำเนิดเป็นสีต่างๆ โดยใช้ LED เป็นแหล่งกำเนิดแสง
แหล่งกำเนิดแสงอย่าง LED นั้นมีขนาดที่ใหญ่ทำให้ไม่ว่าจะแสดงผลอะไรผลหน้าจอก็จำเป็นจะต้องมีการเปิดใช้งานมันตลอดเวลา โดยไม่สามารถปิดการทำงานเป็นจุดๆได้แม้ว่าภาพที่แสดงผลอยู่จะเป็นสีดำอยู่ก็ตาม นั่นจึงทำให้เราได้ภาพสีดำที่ดำไม่สนิท
mini-LED เข้ามาเพื่อแก้ไขในจุดนี้
จริงๆแล้วหน้าจอ Liquid Retina Display ของ iPad Pro 12.9 นิ้วรุ่นใหม่นั้นยังเป็นหน้าจอ LCD เหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนแหล่งกำเนิดแสงจาก LED มาเป็นแบบ mini-LED เท่านั้น
โดยเจ้า mini-LED นั้นมีขนาดที่เล็กมากจนทำให้ Apple สามารถใส่แหล่งกำเนิดแสงนี้เข้าไปใน iPad Pro 12.9 นิ้วได้มากถึง 10,000 ดวงเลยทีเดียว เมื่อเทียบกับเพียง 10 ดวงจาก LED แบบเดิม
แล้วผลลัพธ์ที่ได้ก็คือหน้าจอแสดงผลแบบ LCD ที่ใช้ mini-LED เป็นแหล่งกำเนิดแสงจะกระจายไปทั่วหน้าจอมากขึ้น ซึ่งมันจะทำให้หน้าจอแบบนี้มีอัตราส่วนคอนทราสต์มากขึ้น และสามารถหรี่แสงลงเฉพาะบางส่วนของหน้าจอได้หากมีการแสดงผลสีดำอยู่ ซึ่งมันยังช่วยให้ประหยัดพลังงานมากขึ้นอีกด้วย เพราะไม่ต้องส่องแสงไปยังส่วนที่เป็นสีดำ
mini-LED กับ OLED
เมื่อ Apple เปิดตัว iPad Pro รุ่นใหม่ที่มาพร้อมกับหน้าจอ mini-LED หลายๆคนอาจจะสงสัยว่าเมื่อเทียบกับ OLED แล้ว อะไรดีกว่ากัน และมันต่างกันยังไง?
หากว่ากันตามตรงแล้ว OLED ยังเหนือกว่าในแง่ของการแสดงผล เพราะ OLED นั้นมีแหล่งกำเนิดแสงแต่ละพิกเซลของตัวเองจึงทำให้สามารถควบคุมแสงได้ดีกว่า รวมถึงในส่วนของสีดำก็จะดำสนิทจริงๆเนื่องจากสามารถปิดแสงจากพิกเซลนั้นๆได้เลย
แต่อย่างไรก็ตามแล้วเมื่อเทียบอายุการใช้งาน mini-LED ก็จะได้เปรียบมากกว่า เนื่องจากไม่มีการใช้สารอินทรีย์ที่ใช้ในการเปล่งแสงเหมือนกับ OLED จะทำให้ไม่ต้องกังวลกับปัญหาหน้าจอเบิร์น
สุดท้ายแล้วต้องมาดูกันต่อไปว่าหน้าจอที่ใช้แหล่งกำเนิดแสงแบบ mini-LED จะมีคุณภาพที่เทียบเท่ากับ OLED ได้หรือไม่ และ Apple จะเลือกใส่จอชนิดนี้เข้าไปในอุปกรณ์ใดๆเพิ่มเติมบ้างในอนาคต