iCloud
iCloud Private Relay คืออะไร? ทำงานยังไง? และทำไมถึงเข้าเว็ปที่โดนบล็อคในไทยได้
iCloud Private Relay คืออะไร? มันมีหลักการการทำงานอย่างไรและทำไมมันถึงสามารถเข้าเว็ปไซต์ที่โดนแบนในประเทศไทยได้ บทความนี้เราจะมาให้คำตอบกัน
By
ในงาน WWDC 2021 ที่ผ่านมา Apple ได้เปิดตัวฟีเจอร์ iCloud Private Relay เพิ่มเข้ามาใน iOS 15, iPadOS 15 และ macOS Monterey โดยมันจะเป็นการเข้ารหัสเว็ปไซต์และซ่อน IP Address ของเราจึงทำให้เราสามารถที่จะท่องเว็ปได้อย่างปลอดภัยและมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น
ซึ่ง iCloud Private Relay คืออะไร? มันมีหลักการการทำงานอย่างไรและทำไมมันถึงสามารถเข้าเว็ปไซต์ที่โดนแบนในประเทศไทยได้ บทความนี้เราจะมาให้คำตอบกัน
Update: iCloud Private Relay ไม่สามารถใช้งานในไทยได้แล้ว
iCloud Private Relay คืออะไร?
iCloud Private Relay ออกแบบมาเพื่อทำให้การท่องเว็ปของเรามีความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวมากขึ้นบนอุปกรณ์ของ Apple
โดยปกติแล้วเมื่อเราทำการเข้าเว็ปไซต์ใดเว็ปไซต์หนึ่ง ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ISP) จะรู้ว่าเรากำลังจะเข้าเว็ปไซต์ไหนและเจ้าของเว็ปไซต์ที่เรากำลังเข้าชมก็จะรู้ตำแหน่งว่าเราอยู่ที่ไหนจาก IP Address ของเรา ซึ่ง iCloud Private Relay จะเป็นเข้ามาป้องกันไม่ให้ทั้ง 2 สิ่งนี้เกิดขึ้น
โดยมันจะป้องกันไม่ให้ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตเห็นว่าเรากำลังใช้งานเว็ปไซต์ไหนอยู่และซ่อน IP Address ของเราเพื่อไม่ให้เจ้าของเว็ปไซต์รู้ว่าเรากำลังเข้าใช้งานอยู่ที่ไหน
iCloud Private Relay ทำงานอย่างไร?
เมื่อเราเปิดใช้งาน iCloud Private Relay และเข้าเว็ปไซต์ต่างๆผ่าน Safari มันจะทำการเข้ารหัสและแบ่งข้อมูลออกเป็น 2 ส่วนคือ IP Address และ DNS (สิ่งที่คอยบ่งขี้ว่าเว็ปไซต์เรามีเลข IP อะไร) แล้วทำการส่งไปที่ Apple
โดยเมื่อข้อมูลทั้ง 2 อยู่กับ Apple แล้วนั้น, Apple จะเก็บ IP Address ของเราเอาไว้แล้วจะส่งข้อมูลของเว็ปไซต์ที่เราจะเข้าชมพร้อมกับกุญแจถอดรหัสและ IP Address ที่ Apple สร้างขึ้นมาแทนให้กับเซิร์ฟเวอร์ของพาร์ทเนอร์ของ Apple เพื่อพาเราไปยังเว็ปไซต์นั้นๆ ซึ่ง Apple ไม่ได้ประกาศว่าพาร์ทเนอร์ของ Apple เองคือใครแต่คาดว่าจะเป็นผู้ให้บริการ DNS หลักๆอย่าง Akami, Cloudfare และ Fastly
ซึ่งด้วยวิธีที่ว่ามานี้เองจะทำให้ Apple รู้ IP Address ของเราแต่ไม่รู้ว่าเราต้องการที่จะเข้าเว็ปไซต์ไหน ในขณะที่พาร์ทเนอร์ของ Apple จะรู้ว่าเราต้องการที่จะเข้าเว็ปไซต์ไหนแต่ไม่รู้ว่า IP Address ของเราจริงๆคืออะไร
และด้วยการแยกข้อมูลออกเป็น 2 ส่วน เข้ารหัสข้อมูล รวมถึงซ่อน IP Address ของเรา จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตไม่สามารถบล็อคการเข้าถึงเว็ปไซต์ต่างๆที่ทางการไทยแบนได้
ประโยชน์ของมันคืออะไร?
โดยปกติแล้วเว็ปไซต์ต่างๆมักจะได้รับ IP Address จริงๆของเราจึงทำให้เว็ปไซต์พวกนี้สามารถที่จะสร้างโปรไฟล์เพื่อระบุตัวตนของเราบนอินเตอร์เน็ตได้และยิ่งรวมกับการเข้าถึงคุกกี้ของเราก็ยิ่งทำให้เว็ปไซต์บางเว็ปสามารถระบุตำแหน่ง ติดตาม ตามรอยเพื่อนำข้อมูลของเราไปขายต่อได้
ซึ่ง iCloud Private Relay จะทำให้เจ้าของเว็ปไซต์ไม่สามารถระบุ IP Address ของเราได้จึงไม่สามารถที่จะสร้างโปรไฟล์ที่ระบุตัวตนเราบนอินเตอร์เน็ตได้
สำหรับ IP Address ที่ Apple สร้างขึ้นมาแทนที่ IP Address ของเราจริงๆนั้นจะเป็นการระบุพื้นที่โดยประมาณของ IP Address จริงของเรา ซึ่งที่ทำแบบนี้ก็เพราะว่าเว็ปไซต์บางเว็ปยังจำเป็นต้องรู้ที่ตั้งคร่าวๆของเราเพื่อที่จะนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นเช่น ข่าว, สภาพอากาศ, กีฬาและอื่นๆอยู่
แล้วมันเหมือน VPN ไหม?
ถึงแม้ว่าความสามารถของมันดูจะคล้ายๆกับ VPN แต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่ โดยถึงแม้มันจะหลบเลี่ยงการติดตามและสามารถเข้าเว็ปที่โดนทางการไทยแบนได้เหมือนกันแต่ยังมีอีกหลายๆอย่างที่มันยังขาดไปเมื่อเทียบกับ VPN เช่น
- ในตอนนี้มันทำงานได้เฉพาะกับเบรว์เซอร์ Safari เท่านั้น โดยหากใช้งานเบราว์เซอร์อื่นๆก็จะไม่ได้ความสามารถ iCloud Private Relay ไปด้วย
- iCloud Private Relay ไม่สามารถที่จะเลือกตำแหน่งของ IP Address เองได้จึงไม่สามารถมุดไปประเทศอื่นๆได้เหมือนกับ VPN
โดยถึงแม้มันจะไม่ได้มีความสามารถครบเครื่องเหมือนอย่าง VPN แต่ Apple ก็อ้างว่า iCloud Private Relay จะไม่ทำให้อินเตอร์เน็ตช้าลงเหมือนอย่าง VPN แน่นอน
ราคาและการใช้งาน
สำหรับผู้ที่อยากใช้งาน iCloud Private Relay นั้นจำเป็นจะต้องใช้ iOS 15, iPadOS 15 และ macOS Monterey และสมัครบริการแพ็คเกจ iCloud รายเดือนก่อนโดยมีราคาเริ่มต้นที่ 35 บาทต่อเดือน เพียงเท่านี้ iCloud Private Relay ก็จะถูกเปิดเป็นค่าเริ่มต้นให้อัตโนมัติแล้ว
ในขณะนี้ iOS 15, iPadOS 15 และ macOS Monterey ยังเป็นเวอร์ชันทดสอบอยู่ โดยคาดว่าจะเปิดให้ผู้ใช้งานทั่วไปได้ดาวน์โหลดกันได้ในช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม
ที่มา – Macworld