Apple
Apple ปรับปรุงกฎการคิดค่าธรรมเนียนแอปใน EU อีกครั้ง หลังก่อนหน้านี้ยังคงละเมิดกฎ DMA อยู่
หลังจากที่ EU ยังไม่พอใจการเปลี่ยนแปลงกฎ App Store ของ Apple ล่าสุด Apple ได้ออกมาปรับปรุงเงื่อนไขค่าธรรมเนียมแอปใหม่ใน EU แล้ว
By
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ Apple ปรับกฎการคิดค่าธรรมเนียมยกใหญ่สำหรับแอปใน EU แต่ก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจของคณะกรรมการธิการยุโรปนักจนเสี่ยงทำให้ Apple อาจถูกปรับได้ ล่าสุด Apple ปรับปรุงกฎใหม่อีกครั้งเพื่อหวังให้มันผ่านกฎ DMA ใน EU
สำหรับการเปลี่ยนแปลงแรกคือ Apple ยอมให้นักพัฒนาใน EU ใส่ลิงค์เพื่อพาผู้ใช้งานไปยังภายนอกได้แล้วแบบไม่มีข้อจำกัดไม่ว่าจะเป็นลิงค์พาไปยังวิธีชำระเงินที่ถูกกว่า, ลิงค์ไปยังหน้าโปรโมชันที่อาจเสนอราคาที่ถูกกว่า, ลิงค์ไปยัง App Store อื่นๆ เป็นต้น รวมถึงลิงค์นี้ยังสามารถเปิดผ่าน Web view ที่ทำได้ผ่านในแอปเลยด้วย
ก่อนหน้านี้เงื่อนไขการใส่ลิงค์ในแอปของ Apple จะอนุญาตให้นักพัฒนาใส่ลิงค์เฉพาะไปยังหน้าเว็บหลักของนักพัฒนาเท่านั้นและหน้าเว็บนั้นจะต้องไม่เสนอวิธีการชำระเงินหรือโปรโมชันที่ถูกกว่าหากสมัครใช้งานนอก App Store ด้วย
สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่สองคือระบบโครงสร้างค่าธรรมเนียมแอปใหม่ โดยแบ่งย่อยออกเป็น 2 รูปแบบดังนี้
- Initial Acquisition Fee: สำหรับการขายสินค้าและบริการดิจิทัลทั้งหมดที่ลูกค้าทำบนแพลตฟอร์มใดๆ ที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลา 12 เดือนหลังจากการติดตั้งครั้งแรก
- Store Services Fee: สำหรับการขายสินค้าและบริการดิจิทัลทั้งหมดที่ลูกค้าทำบนแพลตฟอร์มใดๆ ที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลา 12 เดือนที่กำหนดนับจากวันที่ติดตั้ง การอัปเดตแอปและการติดตั้งใหม่
โดยเปอร์เซ็นต์ค่าธรรมเนียมทั้ง 2 รูปแบบจะถูกเก็บต่างกันดังนี้
กรณีนักพัฒนาใช้ข้อตกลง Core Technology Fee
- Initial Acquisition Fee: 5%
- Store Services Fee: 10% (5% สำหรับนักพัฒนารายเล็ก)
กรณีใช้เงื่อนไขเดิมของ App Store
- Initial Acquisition Fee: 5%
- Store Services Fee: 20% (7% สำหรับนักพัฒนารายเล็ก)
สำหรับใครที่งงๆว่า Initial Acquisition Fee และ Store Services Fee มันต่างกันยังไง ก็ขออธิบายง่ายๆว่าในช่วงเริ่มต้น Apple จะเก็บค่าธรรมเนียมทั้ง 2 แบบแต่เมื่อผ่านไป 12 เดือนค่าธรรมเนียม Initial Acquisition Fee จะหายไปเหลือแต่ Store Services Fee แต่หากนักพัฒนาไม่มีการอัปเดตแอปใหม่และผู้ใช้งานไม่ลบและติดตั้งแอปซ้ำตัว Store Services Fee ก็จะหายไปหลัง 12 เดือนเช่นกัน (แต่คิดว่านักพัฒนาน่าจะอัปเดตแอปตลอดเวลานะ)
อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวน่าจะสร้างความมึนงงให้กับนักพัฒนาหลายๆคนพอสมควรซึ่งก็ต้องมาติดตามกันต่อไปว่าทางคณะกรรมการธิการยุโรปจะพอใจต่อการเปลี่ยนแปลงนี้หรือไม่
ที่มา – MacRumors